ก่อร่างสร้างสวน

ความเชื่อของตนเองที่ว่า อาชีพเกษตร คือผู้เอื้ออาทรต่อโลก โดยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักแห่งธรรม ธรรมชาติ เราสามารถสร้างอาหารเลี้ยงผู้คนบนโลก สร้างแหล่งพักอาศัย ทั้งอากาศ น้ำ ป่า ยารักษาโลกจากสมุนไพร รวมทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานจากภาคเกษตรกรรมในรูปแบบต่างๆ ความเข้าใจที่เกิดขึ้นในตนเองและหาเส้นทางที่ชัดเจนจากการค้นคว้าทดลอง จนมั่นใจ จึงได้เริ่มลงมือทำ เดินทางสู่ภาคปฏิบัติ

khonsuantam

วางแผนดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
รูปแบบชีวิตที่สามารถกำหนดได้ด้วยตนเอง ต้องประกอบด้วยความตั้งใจอันอยู่บนพื้นฐานแนวทางที่ถูกต้อง ในหลักการของการพึ่งตนเองจึงจำเป็นต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ ตามขั้นตอนที่สร้างขึ้นดังนี้

ช่วงที่ 1 พออยู่ พอกิน พอใช้ (พอร่มเย็น)
พออยู่ เริ่มต้นด้วยการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม จึงหาพื้นที่ที่เหมาะแก่การสร้างบ้าน ซึ่งกำหนดให้เป็น บ้านดิน ออกแบบบ้านตามการใช้สอยเป็นหลัก ในเอกลักษณ์ความเป็นบ้านแบบไทยประยุกต์ สอดคล้องกับภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ทำการปลูกไม้ใช้สอย ไม้โตเร็ว เตรียมการเพื่อไว้สร้างที่อยู่อาศัยในแบบฉบับของการพึ่งตนเอง
พอกิน อาหารพื้นฐานที่ต้องมี ข้าว ปลา อาหาร เริ่มต้นด้วยการปลูกต้นไม้ในรูปแบบหลุมพอเพียง ในพื้นที่ที่โล่งเตียน สร้างบ่อน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำ และปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ เป็นขั้นตอน
พอใช้ สร้างปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ เสื้อผ้า ยา ของใช้ เครื่องมือเครื่องใช้ สิ่งใดทำเองได้ก็พึ่งตนเอง
พอร่มเย็น ประโยชน์ของการปลูกต้นไม้ให้เป็นแหล่งผลิตอากาศที่บริสุทธิ์ ร่มรื่น และร่มเย็น อันเป็นผลพลอยได้จากการสร้างป่า

ช่วงที่ 2 อยู่ดี กินดี เมื่อสร้างสุขภาวะพื้นฐานในการดำรงชีวิต พอเพียงแก่การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และเริ่มแบ่งปันแก่คนรอบข้าง ให้ความรู้แก่ผู้สนใจ สร้างต้นแบบความพอเพียงอย่างเป็นระบบ และเป็นแบบอย่างความสำเร็จของการพึ่งตนเอง มุ่งสู่จุดหมายของการพึ่งกันเอง ให้หลุดพ้นจากการครอบงำทางความคิดที่ยึดติด ผูกขาดจากกลุ่มทุน ผู้แสวงหาผลประโยชน์จากความไม่รู้ของผู้คน กลับมาภาคภูมิใจในตนเอง พึ่งพาความสามารถตนเอง

ช่วงที่ 3 มั่งมี ศรีสุข (มั่งคั่ง ยั่งยืน) ร่ำรวยความสุข รวยบุญทาน เกื้อหนุนชุมชนและสังคมแบบพึ่งพาอาศัยกัน สร้างสรรค์และเผยแพร่องค์ความรู้ ขับเคลื่อนภูมิปัญญาของแผ่นดิน แก้ปัญหาทุกข์จากการขาดปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิต ร่วมสร้างสังคมแห่งความดีให้แผ่ขยาย ลดการเบียดเบียนกันและกัน สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ พร้อมต่อสู้กับภัยพิบัติ อย่างเข้าใจและมีสติ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

เรียนรู้ทดลอง
องค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้สั่งสมเรียนรู้มา จำเป็นต้องนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตนเอง ดังนั้นการทดลองทำกิจกรรมต่างๆ ที่เรียนรู้มาปรับให้เหมาะสมทั้งสภาพพื้นที่ สภาวะแวดล้อม และความสามารถของตน เพื่อให้เป็นแนวทางของตนเองออกมาเป็นรูปธรรม การสร้างความเข้าใจจากประสบการณ์ทางอ้อมที่เกิดจากการเรียนรู้จากประสบการณ์จึงเป็นสิ่งแรกๆที่ต้องปฏิบัติ
การลงมือทำแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ได้แก่

ภาคเกษตร เริ่มต้นด้วยการทำ…
เกษตรในเมือง (ช่วงนี้ 2559 อาศัยอยู่ กทม.)

  • ปลูกผักกินเอง โดยเฉพาะผักพื้นบ้าน ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว กะเพรา โหระพา หอม คูน คะน้า ผักบุ้งจีน ปูเล่ พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว ถั่วพู แก่นตะวัน ฯลฯ
  • ปลูกสมุนไพรพื้นฐานประจำบ้าน ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ ลางจืด อัญชัน ไผ่น้ำ ว่านกาบหอย ฯลฯ
  • เพาะเห็ดในวงซีเมนต์ ทำปุ๋ยหมักน้ำหมักชีวภาพ เพาะถั่วงอกแบบตัดรากในกระถาง ปลูกผักในยางรถยนต์
  • เพาะกล้าไม้เพื่อนำไปปลูกในสวน เช่น มะนาว มะขวิด ผักหวานป่า สละอินโด กระถิน แคบ้าน มะค่าโมง ไผ่ลวก ไผ่บงหวาน ไผ่ชางนวล มะละกอ มะพร้าว ยอบ้าน ตะไคร้หอม ดาหลา
  • นำกิ่งพันธุ์ มาขยาย เพาะเลี้ยง ได้แก่ มะนาวแป้นพิจิตร 1 หม่อนกินผล แก้วมังกร ไผ่ตงลืมแล้ง ไผ่เลี้ยงหวาน
  • การแปรรูปอาหาร หมัก ดอง กวน แช่อิ่ม เก็บผลผลิตไว้ให้นานขึ้น
  • ของใช้ในชีวิตประจำวัน
    ทำน้ำหมักชีวภาพเพื่ออุปโภค นำไปเป็นส่วนผสมทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดพื้น ทำยาสระผมมะกรูด น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น

เกษตรในสวน (ทำในช่วง เกษตรกรวันลาพักร้อน)

  • เริ่มจากการงดใช้สารเคมีทุกชนิด
  • สร้างสวนสมรม แนวทางเกษตรผสมผสานตามหลักเกษตรธรรมชาติ
  • พัฒนาสวนยางพาราในระบบพืชเชิงเดี่ยวสู่วนเกษตร
  • ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ จาก พด.1 พด.2 และจุลินทรีท้องถิ่น ใช้ในสวนผลไม้และสวนยาง
  • น้ำหมักชีวภาพ จาก พด.2 และจุลินทรีท้องถิ่น ใช้ในสวนผลไม้และสวนยางพารา
  • ทำน้ำหมักชีวภาพใช้ในบ่อปลา และลูกบอลจุลินทรีย์
  • ทำน้ำหมักชีวภาพสูตรไล่แมลง
  • ห่มดินด้วยการให้วัชพืชขึ้นปกคลุม แล้วตัดให้เศษวัชพืชเป็นปุ๋ยพืชสด และใช้ผักตบชวาในบ่อปลาขึ้นมาคลุมดินบนบ่อปลา
  • เผาถ่านเตาถัง 200 ลิตร ได้น้ำส้มควันไม้ ไปใช้ในสวน
  • เพาะขยายเชื้อราไตรโครเดอร์มา กำจัดโรคเชื้อราต่างๆ
  • ปลูกต้นไม้ ในแบบหลุมพอเพียงในสวนใหม่ สร้างป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง และระบบวนเกษตร
  • เพาะกล้าไม้ในเรือนเพาะชำ
  • จักรยานสูบน้ำ
  • เซลล์สุริยะสูบน้ำในสวน
  • ทำฝายทดน้ำในลำธารที่ผ่านเข้าสวน กักเก็บน้ำสำรองยามขาดแคลน

การประมง

  • เลี้ยงปลานิล แบบธรรมชาติ
  • การทำน้ำเขียว เพิ่มแพลงตอนพืช และแพลงตอนสัตว์
  • ทำอาหารคลังปลา ด้วยการกองฟางและมูลสัตว์ในมุมบ่อปลา
  • การบำบัดน้ำและการปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ จุลินทรีย์บอล
  • ปลูกพืชน้ำ เช่น บัวสาย ผักบุ้ง ผักกระเฉด ผักตบชวา ช่วยบำบัดน้ำและเป็นปุ๋ยพืชสด

การเลี้ยงสัตว์

  • การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย ในสวนผลไม้ ผึ้งช่วยผสมเกสรให้ไม้ผล และได้น้ำผึ้งไว้บริโภค
  • การเลี้ยงไก่พื้นเมือง ในสวนเกษตรผสมผสาน ไว้บริโภคไข่ไก่อารมณ์ดี

เมื่อได้ทดลอง ค้นคว้า เรียนรู้ ปรับเปลี่ยน จึงเริ่มต้นลงมือทำอย่างจริงจัง ตามแนวทางที่ตนเองกำหนดไว้ ด้วยการ เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง …

ว่าที่ฯ เกษตรกร เซมเบ้
ณ สวนหม่อนไม้
4 มกราคม 2559