สั่งสมภูมิปัญญาแผ่นดิน
นับจากการตัดสินใจอย่างแน่นอนแล้ว หากเพียงแต่ความเชื่อมั่นอันประกอบไปด้วยความอยากทำคงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง เส้นทางนี้มีหลายคนฝันอยากเดิน แต่จะต้องสะดุดล้มลงไปด้วยอาวุธทางปัญญาไม่พอ ดังนั้นเมื่อจะเริ่มก้าวเดินจำเป็นต้องสร้างแนวทางของตนเอง แนวทางการบ่มเพาะองค์ความรู้ของผมมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. เรียนรู้จากผู้รู้และปราชญ์
?คนที่เรียนรู้จากผู้อื่นเป็นคนฉลาด ส่วนคนที่เรียนรู้ด้วยตนเองเป็นคนเก่ง? จากคำกล่าวนี้ และด้วยตนเองที่มีภาระอยู่ ยังไม่พร้อมจะรับความเสี่ยงที่จะเริ่มต้นด้วยตนเองทั้งหมด จึงเริ่มต้นจากการเรียนรู้จากคนอื่น ครั้งเมื่อย้อนไปสมัยศึกษาในระดับอุดมศึกษา ได้ตระเวนเปิดโลกการเรียนรู้ของตนเองด้วยการทำกิจกรรมในชมรมพัฒนาชนบท แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งได้เรียนรู้จากปราชญ์ จนสรุปเป็นบทเรียนของตนเองอันนำมาสู่คำตอบที่ต้องการของชีวิต ครั้งนั้นได้ออกค่าย ทำกรณีศึกษา ลงพื้นที่ และมีโอกาสได้พบปราชญ์ชาวบ้านหลายท่าน ได้แก่ พ่อผาย สร้อยสระกลาง พ่อผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ท่านเหล่านั้นได้เปิดความคิดในการพึ่งตนเองด้วยภูมิปัญญาของท่าน อันนำมาซึ่งความเป็นอิสระ ความเป็นไท จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
การเรียนรู้จากผู้รู้ แหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้พบหลักคิดที่ถูกต้องและดีงาม โดยการเรียนรู้จากการเข้าร่วมฟังผู้รู้ ปราชญ์ นักวิชาการที่ปฏิบัติจริง ด้วยวิธีฟังจากสื่อ Youtube, ข้อมูลทางเว็บไซต์ต่างๆ
เรียนรู้หลักการดำเนินชีวิต การปฏิบัติ ของผู้รู้และปราชญ์ ที่ได้ใช้ชีวิตของตนเองเป็นบทเรียน และนำมาถ่ายทอดสิ่งถูกที่ควรทำ และสิ่งผิดที่ไม่ควรทำตาม มีทั้งวิธีการแบบง่ายๆ จนกระทั่งสลับซับซ้อนจนต้องอาศัยความรู้ทางหลักวิชาการเข้ามาอธิบายจึงจะเข้าใจอย่างถ่องแท้
2. เรียนรู้จากต้นแบบที่มีการปฏิบัติจริง
เมื่อมีความเชื่อมั่นทางความคิดแล้ว จำเป็นต้องเห็นภาพและเห็นผล อันจะนำไปสู่การสร้างแรงจูงใจที่เข้มแข็ง จึงต้องออกเดินทางหาแหล่งวิชา สรรพวิชาพึ่งตนเอง ในแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ตามเส้นทางดังนี้
ตามรอยพ่อ แหล่งเรียนรู้ตามพระราชดำริ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต้นแบบของแนวทางปฏิบัติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้เป็นต้นแบบ และอีกหลากหลายสถานที่อันเป็นแหล่งเรียนรู้ของพสกนิกร ที่พ่อหลวงทรงสร้างไว้เพื่อเป็นแบบอย่าง ตัวอย่าง ที่มีการปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
ศูนย์เรียนรู้ตามแนวกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมบุคคลกรที่น้อมนำหลักปรัชญาต่างๆ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว น้อมนำมาสร้างแหล่งเรียนรู้แบบเข้าถึงชาวบ้าน ทำจริง เห็นจริง ได้ผลจริง และสร้างศูนย์เครือข่ายเป็นจำนวนมาก พัฒนาคนให้ชัดเจนในแนวทางแห่งการพึ่งตนเอง
แหล่งเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รู้และปราชญ์ชาวบ้านผู้ผ่านกระบวนการต่อสู่ทางความคิด ฝ่าฟันจนพบแนวทางของตนเองบนวิถีแห่งการพึ่งตนเอง และพร้อมที่จะเผยแพร่แก่คนอื่นๆ ตามประสบการณ์จริงของตนเอง ท่านเหล่านั้นได้รับยกย่อง เป็นปราชญ์ของแผ่นดิน
แหล่งเรียนรู้ที่ถูกพัฒนาขึ้น ด้วยการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง หลักแห่งการพึ่งตนเอง ตามกำลังของหน่วยงานราชการ เอกชนต่างๆ นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และกำลังความสามารถของตนที่จะสร้างศูนย์เรียนรู้ โดยมีแนวทางของตนเอง ความเชื่อ ความคิดที่ตีความกันไปในแนวทางของตน
แหล่งเรียนรู้ต่างๆเหล่านี้ เป็นบทพิสูจน์ตามหลักคิดของตนเอง ซึ่งสามารถเข้าศึกษาเรียนรู้ได้ตามความต้องการและความสนใจ เมื่อเริ่มต้นจึงได้เดินทางเรียนรู้ตามกำลังความสามารถและนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับตนเอง
การเลือกแนวทางพึ่งตนเองแบบกสิกรรมธรรม(ชาติ)วิถี
ตลอดระยะเวลาที่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพและครอบครัว พยายามเจือจุนและช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคมตามโอกาสจะอำนวยให้ แต่ก็ยังไม่ใช่แนวทางที่ตนเองต้องการ หลังจากการเรียนรู้ที่ผ่านมา จึงพยายามหาแนวทางของตนเอง จนพอสรุปเป็นการพึ่งตนเองในแบบเกษตรกรรมธรรม(ชาติ)วิถี ด้วยหลักแห่งความเข้าใจกลไกธรรมชาติ บนพื้นฐานธรรมะแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งอาจคล้องกับหลักการเกษตรธรรมชาติ จากบทสรุปของความคิดจึงเริ่มเส้นทางแห่งการสร้างสวนกสิกรรมธรรม(ชาติ)วิถี
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่สั่งสมองค์ความรู้ หลักคิด ทฤษฎี แนวทางการปฏิบัติ รวมทั้งลงมือปฏิบัติในส่วนที่สามารถทำได้ในช่วงเวลานี้ ได้เล็งเห็นว่าองค์ความรู้นี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ ที่สนใจในแนวทางแห่งการพึ่งตนเอง จึงได้จัดทำเว็บ Monmai.com เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้แก่ผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป
ในการสั่งสมภูมิปัญญาแผ่นดิน บทเรียนที่จำเป็นอย่างยิ่งที่นำไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จ ต้องใช้หลักการ ททท. คือ ทำทันที
ว่าที่ฯ เกษตรกร เซมเบ้
17 มีนาคม 2557