เดินทีละก้าว
เมื่อรวบรวมองค์ความรู้ ควบคู่กับการทดลองปฏิบัติ พบทางถูกบ้าง ผิดบ้าง จึงได้เวลาลงมือทำอย่างจริงจังเสียที
จากอาชีพนักพัฒนา Software จนมาเป็น IT As-Director ในปัจจุบัน(2559) ทำงานเป็นลูกจ้างชั้นดีให้แก่บริษัทเอกชนใน กทม. และกำลังผันตัวเองไปเป็นเกษตรกรเต็มตัว ใน จ.นครศรีธรรมราช จะทำอย่างไร …
1. ทำแผนงาน แผนเงินและแผนชีวิต
– แผนงาน : งานที่ต้องเหมาะสมกับเรา หากได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักถือว่าดีที่สุด ดังนั้นงานเป็นสิ่งที่ต้องเป็นกิจวัตรประจำวันด้วย งานที่ผมทำปัจจุบันเป็นงานที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (IT) และการทำเกษตรก็เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์เช่นกัน เรียนรู้ ทดลอง ค้นคว้า ซึ่งเป็นรูปแบบและแนวทางเดียวกัน ต่างกันแต่เครื่องมือและพื้นที่ปฏิบัติการเท่านั้น
แผนงานถูกกำหนดโดยการจำแนกกิจกรรม และขั้นตอนในการทำสวน ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ รูปแบบสวนที่ใช้ออกแบบในแนวทาง เกษตรผสมผสาน สวนสมรม วนเกษตร ตามพื้นที่ให้เหมาะสม และลงมือปฏิบัติ
– แผนเงิน : รายได้ = เงินออม – รายจ่าย ผมและครอบครัวใช้หลักการนี้มาตลอด ทำอย่างไรให้พออยู่ พอกิน สู่มั่งมี ศรีสุข และมั่งคั่ง ยั่งยืน
การมีรายได้ทางเดียวจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มีอัตราความเสี่ยงสูง ซึ่งหลายครั้งมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ซึ่งอาจทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ ทางออกที่ปราชญ์ของแผ่นดินกล่าวไว้ คือการสร้างรายได้จากหลายทาง การทำเกษตรผสมผสาน และมีความหลากหลาย น่าจะเป็นทางออกในการหารายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายรอบ และรายปี หล่อเลี้ยงชีวิตและหาซื้อปัจจัยอื่นๆที่ไม่สามารถทำเองได้
– แผนชีวิต : จริงแล้วต้องเข้าใจชีวิตว่าต้องการอะไร ชื่อเสียง เงินทอง หรือความสุข บางงานทำงานสบายแต่ชีวิตเป็นทุกข์ บางงานลำบากต้องใช้ความเพียร แต่ชีวิตมีความสุข สำหรับผมเลือกที่จะมีความสุขและสุขจากภายในด้วย ดังนั้นจึงกำหนดและเลือกสิ่งที่ทำ ไม่ทำงานหนักจนไม่ได้ดูแลครอบครัว โดยไม่ละเลยที่จะหาเงินทองมาใช้จ่ายเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัว มันเหนื่อยจริงๆ นะ !!
2. ททท. (ทำทันที)
เมื่อวางแผนชัดเจนแล้ว ก็ลงมือทำครับ รออะไร…
เงินที่เก็บหอมรอมริบมาแปรเปลี่ยนเป็นที่ดิน ใน อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช (บ้านเกิดคุณภรรยา) และเมื่อพ่อตาแม่ยายเห็นว่าตัดสินใจแน่แล้วจึงยกมรดกที่จะให้คุณภรรยามาด้วย รวมเป็นที่ดินทั้งหมด 7 แปลง ด้วยที่ดินที่มีสภาพพื้นที่แตกต่างกัน จึงต้องปรับใช้ตามแนวทางที่เหมาะสมกับการทำเกษตร มีพื้นที่ดังต่อไปนี้
- สวนผลไม้ มีมังคุด ทุเรียน มีต้นไม้อื่นแซมบ้าง ปรับเปลี่ยนให้เป็นสวนสมรม
- สวนยางพารา 1.5 ไร่ อายุต้นยางพารา ประมาณ 4 ปี ปรับปรุงให้เป็นสวนไผ่ร่วมยาง
- สวนยางพารา 4 ไร่ อายุต้นยางพารา ประมาณ 3 ปี และมีไม้ผลขึ้นบ้าง ปรับเปลี่ยนให้เป็นสวนยางสมรม
- บ่อปลา 4 ไร่ มีไม้ผล เช่น เงาะ และไม้อื่นๆ ปนอยู่บ้าง ปรับเปลี่ยนให้เป็นสวนเกษตรผสมผสาน
- สวนยางพาราหมดอายุ 10 ไร่ สร้างเป็นป่ายางวนเกษตร
- สวนยางพาราหมดอายุ 4 ไร่ สร้างเป็นสวนสมรม แนวทางวนเกษตร ในชื่อสวนพืชสหาย
- ที่ดิน 1 ไร่ติดถนนใหญ่ ตั้งใจจะทำเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อแลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้ในการทำการเกษตรเพื่อการพึ่งตนเอง ขณะนี้เป็นดงกล้วยอยู่ 😉
ทำสวนยังไง…ตัวอยู่ กทม. สวนอยู่นครศรีธรรมราช ???
ด้วยระยะทาง 800 กม. จาก กทม. ถึงนครศรีธรรมราช จะทำสวนอย่างไร เหตุนี้เป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อนหลายๆ ท่านในเว็บเกษตรพอเพียงจะทำงานประจำร่วมกับทำการเกษตรช่วงวันหยุด และมักเรียกตัวเองว่า เกษตรกรวันหยุด หรือชาวนาวันหยุด ตามคำนิยมของยุคนี้
สำหรับผมเป็น “เกษตรกรวันลาพักร้อน” ครับ ทุกปีจะมีวันลาหยุดพักร้อน 10-15 วัน จะกลับไปทำเกษตรปีละไม่เกิน 3 ครั้ง (ปีใหม่ สงกรานต์ และออกพรรษา) ผมทำการเกษตรแบบนี้ครับ
– ในแต่ละช่วงวันหยุดที่วางแผนว่าจะลาพักร้อน ทำแผนงานว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ในสวนไหน ทำอย่างไร ใช้สิ่งที่จำเป็นอะไรบ้าง ก่อนเดินทางต้องทำอะไร เตรียมอะไร ในระหว่างนั้นทำอะไร หลังจากนั้นทำอะไร เช่น
>> สวนยางสมรม เริ่มจากสวนยาง ที่มียางพารา และไม้ผลบ้าง วางผังและแผนว่าจะทำเป็นสวนยางสมรม คือมียางพาราและไม้ผลที่เหมาะสมในสวนยาง เช่น มังคุด ทุเรียน ไผ่ สละอินโด เหรียง ฯลฯ เรียนรู้ว่าพืชใดต้องการแสงมากน้อยเพียงใด ควรปลูกช่วงใดในสวนยาง เมื่อยางมีอายุ 4 ปี ผมปลูกไผ่ นำไผ่ไปปลูกระหว่างแถวยางพารา และปลูกสละอินโด เมื่อยางพาราอายุ 5 ปี (จากการทดลองที่สวนอื่นสละอินโดน่าจะปลูกช่วงยางพาราอายุ 3-4 ปี) เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อเดินทางกลับบ้านทุกครั้งจะขนต้นไม้ที่คิดว่าเหมาะสมกับพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 200-400 ต้นไปด้วย เพื่อนำไปปลูกในสวนตามแผนงานที่วางไว้ ช่วงที่อยู่ที่สวนก็ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ เผาถ่านทำน้ำส้มควันไม้ ปลูกต้นไม้ ขยายพันธุ์ไม้ ฯลฯ ซึ่งกำหนดเป็นแผนงานอย่างชัดเจน
คนอื่นๆ ลาพักร้อนไปเที่ยวพักผ่อน ส่วนผมลาพักร้อนกลับบ้านทำสวนเป็นคนบ้า??? เข้าสวนตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่พ้นขอบฟ้า ขุดดินปลูกต้นไม้ ทำปุ๋ย ใส่ปุ๋ย ตัดหญ้า ฯลฯ หมดแสงตะวันจึงกลับมานอน จนบางครั้งปลูกต้นไม้ด้วยแสงจันทร์ก็มี (ก็มันยังไม่เสร็จงานน่ะครับ)
ก็มีเวลาน้อยในการทำสวนเลยต้องจัดเต็ม ดังนั้นร่างกายต้องฟิต!!! นะครับ
และเมื่อกลับมาทำงานที่ กทม. แล้ว ก็มีแต่เทวดาและพ่อตาเท่านั้นที่ดูแลสวนให้ ต้นไม้ต้นไหนตายก็หาไปปลูกใหม่ ต้นไหนรอดก็ถือว่าคุณผ่านการทดสอบ ที่สามารถปรับตัวอยู่รอดได้ ผมมักจะเรียกต้นไม้ของผมว่า “ต้นไม้ปริญญา” ซึ่งเติบโตเข้มแข็งต้วยตนเอง หาใช่ไม้ปัญญาอ่อนที่ต้องดูแลอยู่ตลอดเวลา
ด้วยเหตุนี้ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาผมก็เป็น เกษตรกรวันลาพักร้อน …..
ในแต่ละสวนผมทำอะไรบ้าง เรียกว่าทำแบบลองผิด เพื่อทำถูกก็ได้ ถูกบ้างผิดบ้าง มาดูกันว่าเป็นอย่างไร ….
ว่าที่ฯ เกษตรกร เซมเบ้
ณ สวนหม่อนไม้
12 สิงหาคม 2559