ผ้าใบผลลัพธ์ แบบจำลองการตลาดเกษตร

เกษตรกรที่ทำตามแนวทางเกษตรยั่งยืน เมื่อเราสร้างผลผลิตที่ปลอดภัยกับผู้บริโภคก็ต้องหาวิธีการนำสู่ตลาดที่เหมาะสมกับตนเอง ในแนวทางและรูปแบบฉพาะตน ที่เรียกว่า “The Only One” หรือมีความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง เราสามารถประยุกต์เครื่องมือทางธุรกิจมาใช้ในการวางกรอบคิดทางการตลาดเป็นแบบจำลองที่เรียกว่า ‘ผ้าใบผลลัพธ์’
ผ้าใบผลลัพธ์ เป็นส่วนผสมระหว่างแบบจำลองการตลาดและแผนธุรกิจ จัดความสัมพันธ์ให้สอดคลองกับผู้ประกอบการเกษตร เพื่อใช้ในการวางแผนทางการตลาดเกษตร ซึ่งเป็นแผน 9 ช่อง ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ พันธมิตร กิจกรรม กลุ่มเป้าหมาย ทรัพยากร คุณค่า ระยะเวลา ผลผลิต ผลลัพธ์
1. เริ่มต้นด้วย การกำหนด วิสัยทัศน์ บนพื้นฐานความพอเพียง มั่นคง และยั่งยืน
วิสัยทัศน์ คือ เป้าหมายขององค์กรในช่วงเวลาระยะกลางถึงระยะยาว (ประมาณ 3-10 ปี) โดยปกติวิสัยทัศน์ที่ดีจะประกอบด้วย
– เป้าหมายระยะยาว เป้าหมายของเรา ควรเป็นตำแหน่งขององค์กรที่เป็นลักษณะเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง
– ตำแหน่งทางการตลาด ตำแหน่งของเราเชิงธุรกิจในตลาด
– ช่วงเวลา ช่วงเวลาที่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์บรรลุผลสำเร็จ
2. กำหนดกิจกรรม ต่างๆ ที่จะดำเนินการเป็นหลักๆ ของเรา ให้เหมาะสมกับตนเองตามหลักการพึ่งตนเอง พึ่งกันเอง
กิจกรรม เป็นเรื่องของการดำเนินการหรือการลงมือทำ ได้แก่ การผลิต การแปรรูป การจัดการ กิจกรรมการตลาด ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม สถานการณ์ เพื่อครองใจลูกค้า เกิดรายได้และอยู่อย่างยั่งยืน
3. ระบุพันธมิตรที่เกี่ยวข้องให้การดำเนินกิจกรรมนั้นให้สำเร็จ
พันธมิตรธุรกิจก็คือ บุคคลหรือองค์กรทที่ยินดีจะร่วมมือร่วมใจกันในการสร้างเสริมกันและกัน เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่เสริมกันทั้ง 2 ฝ่าย ได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การมีพันธมิตร การเสาะแสวงหาและการสร้างพันธมิตร จะทำให้สามารถปรับกลยุทธ์สู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วขึ้น
4. กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน
กลุ่มเป้าหมาย เป็นสิ่งสำคัญที่เกษตรกรวางแผนการตลาดในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาสินค้าและบริการ ซึ่งการทำการตลาดที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลดีต่อยอดขาดและผลกำไรในอนาคต หากเราระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้เราเข้าถึงลูกค้าได้ถูกต้อง และกำหนดรูปแบบกิจกรรมอย่างเหมาะสม
5. ระบุทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้
ทรัพยากร หมายถึง ทรัพยากรที่นำมาผลิตสินค้าและบริการ อาจเป็นปัจจัยการผลิต ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน รวมทั้งความรู้
6. กำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน อาจนำรูปแบบปักธงลงดาวมาใช้ในการวางแผนกิจกรรมและระยะเวลาในการลงมือทำ
7. คุณค่า (Value) ในมุมของลูกค้า คือ… ประโยชน์ (Benefits) ที่พวกเค้ามองหาในผลิตภัณฑ์/แบรนด์นั้น
หากลูกค้ามองไม่เห็นหรือไม่รู้ถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์/แบรนด์นั้น… พวกเค้าย่อมเลือกที่จะซื้อกับผลิตภัณฑ์/แบรนด์อื่นที่มอบคุณค่าได้ตรงตามความต้องการของพวกเค้า
โดยผู้คนมักมองหาคุณค่าที่สามารถตอบโจทย์ความคาดหวังด้านประโยชน์ที่จะได้รับเสมอ… โดยเฉพาะการใช้งาน การแก้ปัญหา ภาพลักษณ์ และความคุ้มค่า เป็นต้น
ดังนั้นหน้าที่หลักของนักการตลาดจึงคือ… การสร้างและส่งมอบคุณค่าที่ตรงตามความต้องการให้เกิดขึ้นในจิตใจของกลุ่มเป้าหมาย ลูกค้า และผู้บริโภคนั่นเอง
8. กำหนด ผลสัมฤทธิ์ ซึ่งประกอบด้วย ผลผลิต และ ผลลัพธ์
ผลสัมฤทธิ์ (Results) = ผลผลิต (Outputs) + ผลลัพธ์ (Outcomes)
ผลผลิต (Outputs) ได้รับอะไร จากการดำเนินงาน เช่น ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ
ผลลัพธ์ (Outcomes) ทำไม จึงต้องดำเนินการให้ได้ผลผลิตนั้นในแบบนามธรรม เป็นประโยชน์ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเป็นต้น
ผ้าใบผลลัพธ์ ใช้เป็นเข็มทิศในการดำเนินการกิจกรรมต่างๆทางการตลาด และสามารถนำไปปฏิบัติ มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการลงมือทำ การตลาดแบบผู้ให้ เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการให้ผู้บริโภคได้อย่างเป็นธรรม
ป้ายคำ : เครื่องมือ