พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อจะเดินตามรอยเท้าพ่อ ต้องเรียนรู้แนวทางของพ่อ และสถานที่รวบรวมแนวคิด หลักการ และการปฏิบัติ ที่ตอบโจทย์มากที่สุดคือ สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (หมู่ ๑๓ ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ ๔๖-๔๘ ตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช นวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ๑๒๑๒๐ โทร.๐-๒๕๒๙-๒๒๑๒ , ๐-๒๕๒๙-๒๒๑๓ แฟกซ์ ๐-๒๕๒๙-๒๒๑๔)
ในช่วงเวลาหลายปีที่ติดตามและเข้าร่วมกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ได้คิด ได้รู้ จากองค์ความรู้ที่คนทำงานในที่แห่งนี้ทุ่มเทเพื่อสานต่องานของพ่อ อันเป็นแนวทางที่เป็นทางออกของโลก ที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ผมรู้สึกและสำนึกถึงสิ่งที่คนทำงานที่นี่ให้มอบให้ และได้นำไปเป็นแนวทางในการลงมือทำตามพ่อ…
วัตถุประสงค์ของสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- เผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยกับความสัมพันธ์ ในด้านการเกษตรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งโครงการพระราชดำริ พระราชกรณียกิจ และโครงการพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านการเกษตร
- เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เกี่ยวกับการเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ และเป็นแหล่งความรู้ ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ พระราชกรณียกิจ โครงการพระราชพิธีต่างๆ และให้บริการด้านคำปรึกษาและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสถาบันเกษตรกร องค์กรชุมชน และประชาชนผู้สนใจ
- จัดให้มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัยรวบรวมวัตถุ วัสดุอ้างอิง สิ่งประดิษฐ์ จำแนกประเภทวัตถุ บันทึกหลักฐานเกี่ยวความเป็นมาการสงวนรักษาผลงานเกี่ยวกับวิวัฒนาการและการพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศไทย รวมถึงพันธุ์สัตว์หายาก ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการ และสำหรับใช้ในกิจการของสำนักงาน
- จัดแสดงกิจกรรม ผลงาน นิทรรศการ การประชุม สัมมนา การฝึกอบรม การแสดงสินค้าและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ พระราชดำริ พระราชกรณียกิจ โครงการพระราชพิธีต่างๆ แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เกี่ยวกับการเกษตรและการเกษตรทฤษฎีใหม่
- ส่งเสริม สนับสนุน ประสานความร่วมมือ และให้คำปรึกษาแก่โครงการหลวง สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ ข้อมูล และเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการถ่ายทอดประสบการณ์และเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อนำมาพัฒนาสำนักงาน
วิชาแผ่นดิน ที่รวบรวมไว้ในที่แห่งนี้ได้แก่
- ๑ ไร่พอเพียง : บทพิสูจน์ของการจัดการพื้นที่ขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถเลี้ยงตนเองได้อย่างพอเพียง ด้วยกิจกรรมวิถีเกษตรแบบพึ่งตนเอง
- ๙ ไร่ ๙ แสน : การประยุกต์ใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรียนรู้การจัดการในพื้นที่แปลงขนาดเล็ก ด้วยการเกษตรแบบผสมผสานและเทคโนโลยีสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโน
- เกษตรเมือง : สำหรับคนเมืองที่มีที่ดินจำกัด หรือไม่มีพื้นที่ดิน เช่น การปลูกผักในบ่อซีเมนต์ การปลูกข้าวในบ่อซีเมนต์ การปลูกพืชบนดาดฟ้า การนำขยะในครัวเรือนมาใช้ให้เกิดประโยชน์
- นวัตกรรมที่อยู่อาศัย : เรียนรู้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น ดิน ฟาง สร้างเป็นที่อยู่อาศัย ง่ายและประหยัด
- นวัตกรรมพลังงานทดแทน : เรียนรู้การใช้พลังงานธรรมชาติเพื่อทดแทนพลังงานจากน้ำมันเช่นพลังงานลม น้ำ และแสงแดด รวมถึงพลังงานชีวมวล
- นาโยนกล้า : การปลูกข้าวด้วยเทคนิคการทำนาโยนกล้า ลดต้นทุนในการผลิต ประหยัดแรงงาน ลดเวลาและความเหนื่อยยากในการทำงาน ให้ผลผลิตสูง ด้วยเทคนิคเกษตรอินทรีย์
- ปุ๋ยชีวภาพ : ด้วยวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร หมักเป็นปุ๋ยชีวภาพ ที่สามารถนำไปประยุกต์และทำใช้ได้จริง
- ผักกางมุ้ง : การปลูกผักคุณภาพในโรงเรือน (ผักกางมุ้ง) คือการปลูกผักในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของผัก โดยมีโรงเรือนช่วยในการสร้างและควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม สามารถผลิตผักได้ปริมาณและคุณภาพตามที่ต้องการ ป้องกันการรบกวนของแมลงศัตรูพืช และผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีต่อการผลิตผัก
- พลังงานไร้ฤดู : สิ่งประดิษฐ์เพื่อการใช้พลังงานธรรมชาติ ที่ทำได้เอง จากของเหลือใช้และวัสดุในท้องถิ่น
- มหัศจรรย์เกษตรไทย : ความรู้แปลกใหม่ทางการเกษตรที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เช่น การปลูกข้าวในบ่อซีเมนต์วงใหญ่ มะละกอตอนกิ่งปลูกผักในน้ำ
- สมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง : จัดแสดงสมุนไพรนานาพันธุ์และวิธีแปรรูปเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพด้วยวิธีธรรมชาติ
- ฯลฯ
สักวันหนึ่งผมจะมาตอบแทน สิ่งที่ได้รับมา ด้วยคำตอบเดียวกับที่คนในสถานที่นี้มอบให้ … ขอบคุณครับ แล้วเราจะได้พบกันอีก…
ป้ายคำ : แหล่งเรียนรู้