สวนผสม

พื้นที่เดิมที่ได้มาจากการซื้อสวนยางเก่าอายุ 25 ปี ซึ่งโดยทั่วไปก็จะโค่นยางพาราและทำการปลูกขึ้นมาใหม่ ในความตั้งใจเดิมจะสร้างเป็นป่ายางวนเกษตร เพราะมีต้นไม้ใหญ่ปนอยู่บ้าง หากเว้นระยะการกรีดยางสัก 3 ปี ก็น่าจะมีผลผลิตที่ดีและยังเป็นตัวอย่างในการปรับปรุงสวนยางพาราเก่าให้สามารถเพิ่มระยะเวลาการกรีดให้นานขึ้น แต่เนื่องจากเจ้าของสวนเดิมได้ขายต้นไม้ใหญ่ในสวนยางพาราไปให้แก่คนอื่นๆ ก่อนแล้ว เพื่อไปทำการแปรรูปไม้ ดังนั้นจึงได้โค่นไม้ใหญ่ในสวนยางออกไป แต่ก็ยังมีไม้ขนาดเล็กระหว่างร่องสวนยางปะปนอยู่จำนวนมาก อีกทั้งต้นยางพาราผ่านการกรีดยางที่ไม่ถูกต้อง ทำให้หน้ายางหลายต้นไม่สมบูรณ์ รวมทั้งหากให้เป็นสวนยางอีกก็เกรงว่าจะมีสวนยางพารามากเกินไป อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในกรณียางพาราราคาตกต่ำ จึงตัดสินใจโค่นยางพารา และเริ่มต้นพัฒนาสวนให้อยู่ในรูปแบบสวนสมรม
สวนผสม เป็นสวนที่สร้างขึ้นมาใหม่ จากสวนยางพาราหมดอายุ ปรับเปลี่ยนเป็นสวนผลไม้ มีการจัดวางแผนผังเพื่อรองรับการทำผลไม้อินทรีย์ ตามรูปแบบสวนสมรม มีรายละเอียดดังนี้
รอบสวน จัดระบบการบังลม และป้องกันสารเคมีด้วยการปลูกไม้ยืนต้น เช่น สะเดาเทียม ตะเคียน ยางป่า จำปาทอง เหรียง และไผ่ เช่น ไผ่เลี้ยงหวาน ไผ่บงหวาน ไผ่ลวก ไผ่กิมซุง ไผ่ซางนวล เป็นต้น
ผลไม้ แบ่งออกเป็นระยะให้ผล และร่มเงาบังแสง โดยการจัดระบบปลูกดังนี้
- ผลไม้หลัก ได้แก่ ทุเรียน ปลูกในระยะ 10?8 เมตร และเพิ่มเติมไม้ผลอื่นในช่องว่างระหว่างแถว เช่น มะพร้าว ขนุน กระท้อน ส้มโอ ชมพู่ มะดัน มะม่วง มะกอก มะขามป้อม เป็นต้น
- ผลไม้รอง ปลูกผลไม้ที่ให้ผลระยะสั้น เก็บกินได้ทั้งปี ผลไม้ขนาดเล็ก ได้แก่ หม่อนกินผล ฝรั่ง เป็นต้น
- หลุมพอเพียง ในช่องว่างระหว่างแถว ใช้กล้วยเป็นพี่เลี้ยง ปลูกพืชผัก เช่น มะนาว กระเจี๊ยบแดง ถั่วดาวอินคา ชะอม เป็นต้น
- พืชผักสวนครัว ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ ขมิ้น เผือก พริก มะเขือยาว มะเขือเปราะ มะเขือพวง ผักบุ้ง ผักเสี้ยน เป็นต้น
จัดการสวนในแบบเกษตรอินทรีย์ ห่มดินด้วยใบไม้ของพืชที่ตกลงมา ปล่อยให้หญ้าเติบโตตามธรรมชาติ แล้วตัดทำเป็นปุ๋ยพืชสดในสวน ฉีดน้ำหมักชีวภาพผสมจุลินทรีย์ (จุลินทรีย์จาวปลวก จุลินทรีย์ท้องถิ่น ไตรโคเดอร์ม่า) ช่วยย่อยสลาย และปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืช
อาศัยหลักของการพึ่งพาอาศัย และความสัมพันธ์ระหว่างพืช สัตว์ จุลินทรีย์ ช่วยเพิ่มเติมความสมดุลภายในสวนด้วยการเลี้ยงดิน โดยการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ประกอบด้วย มูลสัตว์ (ขี้หมู ขี้วัว ขี้ไก่ ขี้ไก่แกลบ) อินทรีย์วัตถุ (แกลบ ขุยมะพร้าว เศษใบไม้) ถ่านชีวภาพ (หรือแกลบดำ) น้ำหมักชีวภาพ (จุลินทรีย์ และฮอร์โมน) อาหารจุลินทรีย์ (รำละเอียด กากน้ำตาล)
ทำการห่มดิน ไม่เปลือยดิน เพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้น จุลินทรีย์ทำงานได้ดี โดยการใช้วัสดุเอามาใช้คลุมดินได้แก่ ฟางข้าว ใบไม้ หญ้าแห้ง หรือวัสดุอื่นตามที่หาได้ เช่นการตัดหญ้าในสวน ทำปุ๋ยพืชสดในตัว
สำหรับการจัดการน้ำ ขุดบ่อน้ำตื้น เพื่อทำการสำรองน้ำในยามแล้ง ส่งน้ำเข้าท่อปรับแรงดันด้วยแอร์แว และทำคลองไส้ไก่เชื่อมโยงกัน ป้องกันน้ำท่วมด้วยการทำท่อระบายสู่ลำธารสาธารณะ
เดิมที่สวนยางเก่าอายุ 25 ปี ตัดสินใจโค่นยางพารา
เริ่มต้นพัฒนาสวนให้อยู่ในรูปแบบสวนสมรม
ทุเรียน พันธุ์หมอนทอง หวังไว้เป็นพืชเศรษฐกิจของครอบครัว ทำสวนแบบอินทรีย์ดูแล้วโตไม่ค่อยทันสวนข้างๆ ที่บำรุงด้วยสารเคมีเต็มที่
กล้วย สำหรับเป็นไม้ให้ความชุ่มชื้น หลากหลายสายพันธุ์ เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยเล็มือนาง กล้วยหอม กล้วยหิน ปลูกปนกันเลยจำไม่ค่อยได้ ต้องรอออกเครือจึงรู้ว่ากล้วยอะไร
ขนุน ปลูกสลับๆ กันไป
กระท้อน จากที่ทดลองปลูกไว้กิน ให้ผลเป็นที่น่าพอใจจึงปลูกเพิ่มไว้กินและขาย
มะม่วง มะม่วงเขียวเสวยของโปรดของลูกชายจัดไป 10 ต้น มะม่วงเบาของโปรดของผม ปลูกแบบเพาะเมล็ดก็รอนานหน่อย
มะพร้าวน้ำหอม อันนี้ของชอบของครอบครัว ไม่ได้ดูแลจึงตายไปหลายต้น
หม่อน เป็นหม่อนกินผล ไว้ทานผลสดและแปรูป
ฝรั่ง เป็นฝรั่งขี้นกและผรั่งพันธุ์กิมจู ปนๆ กันไป
ชมพู่ โตแบบค่อยเป็นค่อยไป
ส้มโอ จากที่ทดลองปลูกไว้กิน รสชาติดี น่าจะเหมาะกับดินที่นี่ส่วนมาเป็น ส้มโอขาวแตงกวา
ตามแนวรอบๆสวน ปลูกไผ่เลี้ยงหวาน ไผ่บงหวาน ไผ่ซางราชินี เพื่อเป็นแนวกันลมและสารเคมี
ที่มาจากสวนอื่นรอบๆ รวมทั้งไม้ยืนต้น ได้แก่ สะเดาเทียม ตะเคียน ยางป่า จำปาทอง เหรียง …
ปล่อยหญ้าขึ้นแล้วก็ตัด ยามแล้งก็ห่มดิน
ปุ๋ยหมักชีวภาพ ตามสูตรหมักไว้ในสวน
ระบบน้ำ ใช้น้ำบาดาลลึกไม่เกิน 15 เมตร วางระบบน้ำหลักไว้ที่แนวต้นทุเรียน รักษาระบบแรงดันน้ำด้วยแอร์แว
ป้ายคำ : สวนพืชสหาย, สวนหม่อนไม้