สวนสมรม

สวนผลไม้ เพิ่มเติมเป็นสวนสมรม พัฒนาสู่วนเกษตร
สวนสมรม เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในอดีตของภาคใต้ ที่ปลูกไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก พืชสมุนไพรในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่ทำลายพืชดั้งเดิมที่มีอยู่ ทำให้พืชได้พึ่งพาอาศัยกันเองตามธรรมชาติ
จากสวนผลไม้ดั้งเดิมที่พ่อปลูกไว้ให้ มีมังคุด ทุเรียน ลางสุก ลางสาด มะมุด หมาก กล้วย รวมทั้งไม้ดังเดิมในพื้นที่ และเนื่องจากพื้นที่ด้านหนึ่งเป็นลำธารสาธารณะ จึงยังมีไม้พื้นถิ่นอยู่บ้าง เช่น ต้นสาคู ผักกูด และไม้ริมน้ำ
เริ่มต้นพัฒนาสู่สวนสมรม ด้วยการปลูกแซมด้วย ไม้ยืนต้น ตะเคียน ยางนา จำปาทอง ไผ่ สะเดา สะเดาเทียม ฯลฯ
เสริมด้วยไม้ผล ได้แก่ กล้วย ชมพู่ ขนุน กระท้อน มะพร้าว ผักเหลียง หม่อนกินผล สับประรด ตะลิงปลิง มะยม ชะอม มะนาว ฝรั่ง มะเฟือง ดาหลา ข่า ตะไคร้ ฯลฯ
เพิ่มเติมด้วยสมุนไพร ทั้งสมุนไพรในท้องถิ่นและสมุนไพรที่ปลูกเพิ่มเข้าไป
และพืชที่เกิดตามธรรมชาติ ได้แก่ สาคู ผักกูด ฯลฯ
พยายามจัดระบบระดับชั้นต้นไม้ ไม้ยืนต้นที่มีทรงพุ่มใหญ่ หรือสูงใหญ่ก็จะปลูกห่างกัน และเสริมด้วยไม้ระดับกลาง พืชใบหนา สลับกับพืชใบเล็ก แบ่งปันการรับแสง และตัดแต่งทรงพุ่มไม้ผลให้รับแสงทั่วถึง
สภาพดินในสวนเป็นดินร่วนปนทรายแต่ปนเปื้อนสารเคมี ในช่วงแรกจึงต้องฟื้นดิน โดยปล่อยให้หญ้าเติบโตตามธรรมชาติ แล้วตัดทำเป็นปุ๋ยพืชสดในสวน ฉีดน้ำหมักชีวภาพผสมจุลินทรีย์ (จุลินทรีย์จาวปลวก จุลินทรีย์ท้องถิ่น ไตรโคเดอร์ม่า) ช่วยย่อยสลาย และปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืช อาศัยหลักของการพึ่งพาอาศัย และความสัมพันธ์ระหว่างพืช สัตว์ จุลินทรีย์ ช่วยเพิ่มเติมความสมดุลภายในสวนด้วยการเลี้ยงดิน โดยการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ประกอบด้วย มูลสัตว์ (ขี้หมู ขี้วัว ขี้ไก่ ขี้ไก่แกลบ) อินทรีย์วัตถุ (แกลบ ขุยมะพร้าว เศษใบไม้) ถ่านชีวภาพ (หรือแกลบดำ) น้ำหมักชีวภาพ (จุลินทรีย์ และฮอร์โมน) อาหารจุลินทรีย์ (รำละเอียด กากน้ำตาล) ในแบบเกษตรอินทรีย์ ห่มดินด้วยใบไม้ของพืชที่ตกลงมา
สำหรับการจัดการน้ำ ในพื้นที่มีลำธารน้ำสาธารณะ แต่ไหลมาจากสวนอื่นๆ ผ่านมาทางสวนเราทำให้มีสภาพปนเปื้อนสารเคมี จึงได้ทำน้ำหมักชีวภาพและลูกบอลจุลินทรีย์ใส่ลงไป แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น สงสัยต้องสู้กันอีกหลายยก ช่วงลำธารส่วนนี้ขุดให้กว้างขึ้นเพื่อเก็บน้ำและตั้งใจจะทำฝายมีชีวิต ยกระดับน้ำขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำและเพิ่มความชุมชื้นให้พื้นที่โดยรอบ
การฟื้นฟูสวนสมรมสู่วนเกษตร สืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ด้วยการพึ่งพิงและพึ่งพาอาศัย ด้วยความเข้าใจ เคารพ และอ่อนน้อม ยอมรับในหลักของธรรมชาติ สู่ความมั่นคงและยั่งยืน
บรรยากาศสวนสมรม ต้นไม้ดูรกและไม่ค่อยมีระเบียบ เพราะว่ามีช่องว่างที่ตรงไหนและพอมีแสงก็จัดลงต้นไม้ทันที ต้นไหนตายก็ปลูกใหม่
ธารน้ำ ผ่านมาท้ายสวน น้ำมีสีเหลือง มีฟอง โยนจุลินทรีย์บอล เทน้ำหมักชีวภาพลงไปแล้วก็ยังเหมือนเดิม เพราะน้ำไหลมาจากสวนอื่นๆ ที่ใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีเข้มข้น ค่อยๆ แก้ไขไปครับ
ไม้ยืนต้น ปลูกปนๆกันไป สะเดาเทียม ตะเคียน …
ในฤดูแล้งก็ปล่อยหญ้าไว้คลุมดิน คนที่ผ่านไปผ่านมา บอกสวนเรารกทุกคน ปีหนึ่งตัดหญ้า 2-3 ครั้ง เวลากลับไปสวนทีค่อยๆ ทำ (ในแบบเกษตรกรวันลาพักร้อน) บางครั้งตัดไม่ทันก็จ้างคนรู้จักให้ช่วยตัดหญ้า หลายคนบอกว่าให้ฉีดยาฆ่าหญ้า ทั้งถูกและเร็วดี ผมเลือกตัดถึงแพงกว่ามาก แต่ได้ปุ๋ยพืชสดครับ เทียบกันแล้วจ่ายเงินพอๆ กันกับได้ปุ๋ย ไม่ทำลายดินด้วย
รอบๆ ปลูกไม้ยืนต้นแซมไว้ 2 แถว เป็นแนวรั้วต้นไม้ หวังว่าจะกันกลิ่นขี้หมู เพราะข้างๆ สวนเลี้ยงหมูหลายสิบตัว มีไม้ดอกเช่น จำปี มีไว้ให้สวนหอมๆ
ไผ่ปลูกกระจายไว้รอบๆ เพื่อเรียนรู้ว่าดินตรงนี้เหมาะกับไผ่อะไร
ไผ่บงหวาน พันธุ์ดั้งเดิม เพราะจากเมล็ดเพราะต้องการเห็นการกลายพันธุ์ เผื่อจะได้ของดีเป็นพันธุ์ใหม่ กับเขาบ้าง (อยู่ในช่วงเก็บข้อมูล เดี๋ยวมาเล่าให้ฟังต่อครับ)
ไผ่หวะโซ่ว ของพม่า ได้มาจากเมืองเหนือ หน่อหวานจนมดมาดูดน้ำหวานเลย พอล้างดินออกแล้วหน่อขาวจั๊ว
ไผ่กิมซุง หรือไผ่ตงลืมแล้ง ปลูกจากกิ่งตอน พอได้กินหน่อ
มังคุด ออกลูกให้กินแล้ว บางปีออกมาก บางปีออกน้อย กำลังเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลผลิตอยู่ครับ ว่าในพื้นที่นี้มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการให้ผลผลิตในแต่ละปี
ทุเรียน เห็นลำต้นว่างๆ เลยให้พริกไทยเลี้อยขึ้นไปเป็นเพื่อน 555
ลางสุก เป็นไม้ประจำถิ่นของเขตพื้นที่เขาหลวง เขต อ. นครศรีธรรมราช ไม่แนใจว่าเพื่อนๆชาวเกษตรพอเพียงเคยกินหรือเปล่า ลูกเหมือนลางสาด แต่รสชาติคล้ายลองกอง เปลือกบาง เนื้อมีน้ำฉ่ำ หวาน จะว่าเหมือนลางสาดก็ไม่ใช่ หรือเหมือนลองกองก็ไม่เชิง ก็มันคือ ลางสุก
ต้นหมาก ที่ผ่านมาเป็นไม้ที่ชาวสวนตัดทิ้งแล้วปลูกยางพารา ในสวนนี้ มีประมาณ 80 ต้น ให้เพื่อนบ้านเหมาไปทำหมากแห้ง ยังเป็นที่ต้องการของตลาดคนกินหมาก…
ปุ๋ยหมักชีวภาพ ประกอบด้วย มูลสัตว์ (ขี้หมู ขี้วัว ขี้ไก่ ขี้ไก่แกลบ) อินทรีย์วัตถุ (แกลบ ขุยมะพร้าว เศษใบไม้) ถ่านชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ (จุลินทรีย์ และฮอร์โมน) อาหารจุลินทรีย์ (รำละเอียด กากน้ำตาล) แต่ละสวนมีสัดส่วนของมูลสัตว์ไม่เท่ากัน ในสวนนี้เพิ่ม ขี้หมู ขี้ไก่ และถ่านชีวภาพ ทำปุ๋ยหมักไว้ในสวนปีละ 2 ครั้ง ปริมาณที่ทำ คำนวณจาก จำนวนต้นและขนาดต้นไม้ ขนาดเล็กใส่ 1/2-1 กก. ขนาดกลางใส่ 2 กก. ส่วนขนาดใหญ่ 3-4 กก. นำมารวมกันแล้ว แบ่งอัตราส่วนตามวัตถุดิบ แล้วเพิ่มอีก 30% เพราะตอนหมักเสร็จจะวัตถุดิบจะย่อยสลาย ปริมาณจะหายไปประมาณ 30% พอทำชำนาญแล้วก็กะๆเอาได้ครับ
ความตั้งใจลึกๆ สวนนี้จะทำเป็นบ้านสวนของตนเอง บ้านสวนหม่อนไม้ บรรยากาศรีสอร์ท ท่ามกลางธรรมชาติ ตอนทำจริงๆ จะมาเล่าให้ฟังครับ…
ป้ายคำ : สวนสมรม, สวนหม่อนไม้